สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้
Maejo Alumni Association; MAA

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ (ส.ศ.ม.) Maejo Alumni Association (M.A.A.)

ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ในยุค อาจารย์พนม สมิตานนท์ อาจารย์ใหญ่สถานศึกษาการเกษตร โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้” ซึ่งอาจารย์พนม สมิตานนท์ เป็นผู้ดำรงตำแน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ท่านแรก และได้มีการใช้ข้อบังคับสมาคมฯ ครั้งแรก ในปี พ.ศ.2492 ขณะนั้น สถานศึกษาการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตราธิการดูแลแทนกระทรวงศึกษาธิการ ได้โยกคืนให้กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลเหมือนเดิม (พระช่วงเกษตรศิลปการ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ สมัยแรก 30 พฤศจิกายน 2491-25 มิถุนายน 2492 สมัยที่สอง 28 มิถุนายน 2492-29 พฤศจิกายน 2494) โดยปี พ.ศ.2492 หลังจากโอนย้ายคืนจากกระทรวงเกษตราธิการ มายังกระทรวงศึกษาธิการ มีการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้

โดยการดำเนินงานของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ในระยะแรก อาจารย์พนม สมิตานนท์ ได้ใช้อาคารอำนวยการ (หอพักฝึกหัดครู หรือ หอ ฝ.ค.) เป็นที่ทำการและเก็บเอกสารต่างๆ กิจกรรมในช่วงนั้น เช่น การให้ทุนการศึกษาของนักเรียน และส่งเสริมการรับผู้สำเร็จการศึกษาเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน และทางราชการ การพบปะเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนและการกีฬา เป็นต้น

พ.ศ.2496
อาจารย์พนม สมิตานนท์ ย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้นั้นว่างลง คณะกรรมการสมาคมฯ ในขณะนั้น จึงเชิญอาจารย์ไสว ชูติวัตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ มาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ เพื่อให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้

พ.ศ.2497-2522
ในปี พ.ศ.2497 อาจารย์ไสว ชูติวัตร ได้ย้ายไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้น ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองโรงเรียนเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 1) ได้รับการแต่งตั้งจากกรมอาชีวศึกษา (ในยุคหลวงปราโมทย์จรรยาวิภาต อธิบดีกรมอาชีวศึกษา) ท่านจึงรับตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ด้วย โดยดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน รวมเป็นระยะเวลา 25 ปี (พ.ศ.2497-2522) ในช่วงนี้นั้น ท่านได้ออกไปพบปะศิษย์เก่าแม่โจ้ ในต่างจังหวัดอยู่เนืองๆ ทำให้ทราบความต้องการ และเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของบรรดาศิษย์เก่าเหล่านั้นต่อสมาคมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านการศึกษา การที่ท่านเป็นผู้บริหารโรงเรียน วิทยาลัย และการเป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ควบคู่กัน ทำให้สามารถกำหนดนโยบายต่าง ๆ ในการจัดทำหลักสูตร การเปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาอาชีวเกษตร ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่แม่โจ้ได้ (ภายหลังมีพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อปี พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ในปี พ.ศ.2525) เนื่องจากขณะนั้นผู้บริหารสถานศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศ จะมีศิษย์เก่าแม่โจ้ มาร่วมงานจำนวนมาก ระยะเวลาที่อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ อยู่นั้น มีกิจกรรมของสมาคมฯ และสถาบันฯ ผสมกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน ศิษย์เก่ามีความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเมื่อเดินทางกลับมาเยือนสถาบันฯ เมื่อภาระงานอธิการบดีมีมากขึ้นอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ได้หารือกับกรรมการสมาคมฯ เพื่อขอให้มีการเลือกนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ แทนท่าน เพื่อจะได้บริหารงานของสมาคมฯ ได้อย่างเต็มที่

พ.ศ.2522-2528
พ.ศ.2522 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี วันที่ 6 มิถุนายน 2522 ได้มีมติเลือก อาจารย์ ดร.ประพัฒน์ สิทธิสังข์ (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 9) เป็นนายกสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ งานสำคัญในช่วงเวลานี้ มีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมนักเรียนเก่าแม่โจ้ เป็น “สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้“ และร่างแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ ฉบับใหม่ พ.ศ.2526 แทนฉบับที่ได้ร่างไว้ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2492 การจัดตั้งมูลนิธิศิษย์เก่าแม่โจ้ การจัดงานแม่โจ้คืนถิ่น เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2523 และงานเฉลิมฉลองและชุมนุมศิษย์เก่าแม่โจ้ ในโอกาสแม่โจ้ ครบ 50 ปี ในปี พ.ศ.2527 นอกจากนี้ มีการวางศิลาฤกษ์ อาคารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ สร้างด้วยพลังและความสามัคคีของลูกแม่โจ้ทั่วประเทศด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 2,000,000 บาท ในวันที่ 7 มิถุนายน 2527

พ.ศ.2528-2542
เมื่อ ดร.อำนวย ยศสุข (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 20) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ.2527) ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2528 ในวันเดียวกันนี้มีการเปิดป้ายสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ โดยศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ (หลวงอิงคศรีกสิการ) เป็นประธาน ดร.อำนวย ยศสุข นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้คนใหม่ ดร.จำนง โพธิสาโร อุปนายกสมาคมฯ รองศาสตราจารย์ยรรยง สิทธิชัย อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (พ.ศ.2527-2529) มีศิษย์เก่าแม่โจ้เดินทางมาร่วมงานอย่างคับคั่ง อาคารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น ยึดรูปแบบอาคารเทพศาสตร์สถิตย์ (อาคารอำนวยการ) เมื่อปี พ.ศ.2479 ได้มีการแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ อีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2529 และได้นำข้อบังคับฉบับใหม่นี้ไปจดทะเบียนการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นต้นมา ดร.อำนวย ยศสุข ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นเวลา 15 ปี เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ของศิษย์เก่าแม่โจ้ การหารายได้ การสร้างถาวรวัตถุ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์มาจนทุกวันนี้

พ.ศ.2542-2544
ดร.บุญเลื่อน บุญเรือง (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 15) อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ได้มีการปรับปรุงสำนักงานที่ทำการและเรือนพักสมาคมฯ มีการปรับปรุงบ้านพักศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทย จัดพิมพ์จดหมายข่าวสมาคมฯ เผยแพร่แก่ศิษย์เก่าทั่วประเทศ จัดตั้งกองทุนการศึกษาและพัฒนาวิชาการ การระดมทุนเพื่อหารายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แข่งขันกอล์ฟ โบว์ลิ่ง เดินและวิ่งเพื่อการกุศล ผ้าป่าสามัคคี และร่วมกิจกรรมรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การเสนอชื่อศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าดีเด่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การคัดเลือกและจัดสรรโควตาบุตรศิษย์เก่าแม่โจ้ เข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจัดทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ นอกจากนี้มีการแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ (ฉบับ พ.ศ.2529) เมื่อปี พ.ศ.2544

พ.ศ.2544-2546
ได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ในการประชุมสามัญประจำปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2544 ซึ่งได้แก่ นายหลุย ทิศสกุล (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 21) กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดเชียงราย ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น เป็นต้น การบริหารงานเน้นการกระจายอำนาจหน้าที่ของกรรมการและคณะกรรมการ การจัดตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อดำเนินงาน ของสมาคมให้ลุล่วงอย่างรวดเร็ว การประกาศใช้ข้อกำหนดสมาคมฯ ว่าด้วยการบัญชีและการรับจ่ายเงิน พ.ศ.2545 ร่างข้อบังคับสมาคมฯ ฉบับใหม่ พ.ศ.2546 จดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 ปรับปรุงอาคารและห้องพักสมาคม งานบริการผู้พัก และศิษย์เก่าแม่โจ้ต่างจังหวัด

การบริหารงาน มุ่งการประหยัดค่าใช้จ่ายของสมาคมฯ หลีกเลี่ยงการบริจาคเงินและสิ่งของจากศิษย์เก่า จัดระบบบัญชีและการเงินของสมาคมฯ ให้มีความโปร่งใสโดยให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรายงานและรับรองงบดุล งบรายได้และค่าใช้จ่ายประจำปี เป็นครั้งแรกของสมาคมฯ ปรับปรุงและบริหารเรือนพักจนเกิดรายได้ไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี การจัดสรรโควตาบุตรศิษย์เก่าแม่โจ้ให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การคัดเลือกศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าดีเด่น และปริญญากิตติมศักดิ์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การชำระหนี้สินต่าง ๆ ของสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ให้เบาบางลงไป เป็นต้น

พ.ศ. 2546-2550
นายยงยุทธ สุวภาพ (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 29) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 9 จังหวัดเชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นเวลา 2 สมัย เป็นเวลา 4 ปี มีการประสานสัมพันธ์กับศิษย์เก่าทั่วประเทศ มุ่งมั่นสามัคคีปรองดอง สนับสนุนทุนการศึกษา การจัดสรรโควตาบุตรศิษย์เก่าเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปรับปรุงและพัฒนางานพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทย การหารายได้จากการกีฬา เช่น มวย กอล์ฟ โบว์ลิ่ง เป็นต้น ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2546 งานข่าวสมาคมศิษย์เก่า เช่น แผ่นพับ จดหมายข่าว แบะสื่อประชาสัมพันธ์ทางระบบอินเตอร์เนต เพื่อสัมพันธ์กับศิษย์เก่าทั่วประเทศ และโอกาสที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีอายุครบ 70 ปี ในปี พ.ศ.2547 สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง เช่น กอล์ฟการกุศล แม่โจ้คัพ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2547 กีฬามวย การจัดทำหนังสืออนุสรณ์แม่โจ้ 70 ปี การจัดผ้าป่าการกุศลสร้างสะพานแขวนข้ามลำห้วยโจ้ เป็นต้น

พ.ศ.2550-2554
ได้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ในการประชุมสามัญประจำปี 2550 โดย ดร.อุทัย วาสนาพันธ์พงศ์ (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 24) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นเวลา 2 สมัย เป็นเวลา 4 ปี

พ.ศ.2554-2556
วันที่ 6 มิถุนายน 2554 มีการเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ โดยว่าที่ร้อยตรี อนุกุล ฟองมูล (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 28) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

พ.ศ.2556-2560
รองศาสตราจารย์ ดร.เทพ พงษ์พานิช (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 32) อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นเวลา 2 สมัย เป็นเวลา 4 ปี

พ.ศ.2560-2563
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ โนรี (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 36) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

พ.ศ.2563-2567
ดร.สมชาย เขียวแดง (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 49) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

พ.ศ.2567-ปัจจุบัน
ดร.ขุนศรี ทองย้อย (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 51) ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

ข้อมูล:
1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนิต มะลิสุวรรณ (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 20)
2.หนังสืออนุสรณ์ วิจารณ์ ปรีชา (ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 53)

ทำเนียบนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

ทำเนียบสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ 2567

ปรัชญา

แม่โจ้อยู่ได้ด้วยความสามัคคี

วิสัยทัศน์

เป็นสมาคมชั้นนำ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับแม่โจ้ และธำรงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของลูกแม่โจ้ ความรักสามัคคี ประเพณีอันดีงาม

พันธกิจ

1. เสริมสร้างความสามัคคี และความเข้มแข็งให้กับสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

2. สนับสนุน ช่วยเหลือ และส่งเสริมศิษย์เก่าแม่โจ้

3. ส่งเสริมและพัฒนา Alma mater มหาวิทยาลัยแม่โจ้

4. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

5. บริหารจัดการสมาคมอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน

ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 21 กลยุทธ์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเชิงรูก

     ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์   

     1. สร้างความเข้มแข็งให้กับสมาคม รวมพลังศิษย์เก่าทุกรุ่นขับเคลื่อนสมาคม ตามหลัก 4 ปะโยชน์ ประกอบด้วย ประเทศชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักศึกษาแม่โจ้ และสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ภายใต้การมีจริยธรรม คุณธรรม เสียสละ ซื่อสัตย์ อุทิศเพื่อสมาคม

     2. ผนึกกำลัง ประสานความร่วมมือ ทั้ง Offline และ Online เชื่อมโยงศิษย์เก่าแม่โจ้ทุกรุ่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักศึกษาปัจจุบัน และองค์กรภายนอกเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

     3. สร้างความเป็นปึกแผ่น ทำงานเป็นทีม โดยส่งตัวแทนรุ่นมาเป็นกรรมการขับเคลื่อนสมาคมอย่างน้อยรุ่นละ 1 คน และสนับสนุนการมีส่วนร่วม ในการบริหารงานของทุกรุ่น

     4. ผลักดัน ยกย่อง และเชิดชูเกียรติ ศิษย์เก่าที่ประสบผลสำเร็จมีเป้าหมายให้ได้มากกว่าจำนวนเดิม ทั้ง ศิษย์เก่าดีเด่น มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

     5. นำข้อมูลความคิดเห็น ข้อเนอแนะ หรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาทิ ผลักดันศิษย์เก่าผู้มีความเข้มแข็งทางวิชาการสู่บุคคลากรของมหาวิทยาลัย การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติอันเป็นอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งของแม่โจ้ สนับสนุนและผลักดันการจัด World ranking ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในระดับโลก ตลอดจนการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

     6. ปรับภาพลักษณ์ของสมาคมให้ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารและดำเนินกิจกรรมของสมาคม อาทิ ระบบฐานข้อมูลสมาชิก การประชุม อนุมัติ การเลือกตั้งออนไลน์ (ในวาะหน้า พ.ศ.2569) และปรับปรุงระเบียบข้อบัคคับสมาคมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

     7. รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยในทุกไตรมาส เพื่อปรับและผลักดันการดำเนินงานให้สอดคล้องและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

     8. ประชาสัมพันธ์ข่างสาร กิจกรรมของสมาคม ให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้มีส่วนได้เสีย ได้รับทราบอย่างครอบคลุม โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Online และ Offline เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในระดับ ชมรม จังหวัด ภาค อย่างทันท่วงที

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุน ช่วยเหลือ เกื้อกูล

 ประกอบด้วย 9 กลยุทธ์   

     1. สนับสนุนบุตรธิดาของสมาชิกศิษย์เก่าให้ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างมีคุณภาพ

     2. ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือสมาชิก เช่น กรณีทุพพลภาพ และฌาปนกิจสงเคราะห์

     3. สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

     4. สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ที่ถึงแก่กรรม

     5. สนับสนุนและร่วมมือ การจัดกิจกรรมของชมรมรุ่น จังหวัด ภาคของศิษย์เก่าแม่โจ้

     6. ร่วมการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ และปัจฉิมนิเทศ โดยเชิญศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

     7. เชื่อมโยงองค์กรภายนอกในรูปแบบเครือข่ายรับนักศึกษาฝึกงาน และรับเข้าทำงาน

     8. ร่วมผลักดันการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน

     9. สนับสนุนการกีฬา และ Soft Power ให้เป็นรูปธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดกิจกรรมหารายได้ เพื่อนำมาสนับสนุนการดำเนินงาน

 ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์   

     1. จัดให้มีการหารายได้ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหารายได้เข้าสมาคม  อาทิ กอล์ฟ โบว์ลิ่ง เดิน วิ่ง การกุศล ฯลฯ

     2. จัดให้มีการพบปะสังสรรค์ของทุกรุ่น วาระทุก ๆ 2 ปี

     3. การบริหารพื้นที่ของสมาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ฯ

     4. นำผลิตภัณฑ์เด่นดังของศิษย์เก่าและมหาวิทยาลัยมาต่อยอดสร้างรายได้